ปวดฟัน
ปวดฟัน (Toothache) หมายถึง อาการปวดรอบฟันหรือขากรรไกร ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากสภาพฟันผุ ฟันคุด ฟันแตก ฟันสึก เหงือกอักเสบ หรือกระดูกรอบฟันอักเสบ นอกจากนี้อาการปวดฟันยังอาจเป็นอาการปวดจากโรคอื่น ๆ แล้วปวดร้าวส่งต่อมาที่ฟัน ส่งผลให้ดูเหมือนปวดฟัน เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคทางหู และโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยอาการปวดฟันนี้จะไม่สามารถหายไปเองได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุโดยทันตแพทย์ แต่ก็สามารถบรรเทาอาการให้ปวดน้อยลงได้ในช่วงระยะหนึ่งก่อนที่จะไปพบทันตแพทย์
สาเหตุของอาการปวดฟัน
- ฟันผุ เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการปวดฟัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเสียวฟันเวลาดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็น บางครั้งอาจรู้สึกปวดฟันขึ้นมาได้ขณะเคี้ยวอาหาร เนื่องจากมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ในรูที่ผุนั้น
- ฟันคุด เกิดจากการที่ฟันกรามซี่ในสุดขึ้นไม่ตรงที่และอาจเอียงไปดันฟันข้างเคียงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ อีกทั้งบริเวณเหล่านี้มักทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง จึงทำให้มีเศษอาหารไปตกค้างอยู่จนอาจเกิดหนองรอบ ๆ ฟันคุดได้
- ฟันร้าวหรือฟันแตก ทำให้ความเย็นหรือความร้อนส่งถึงโพรงประสาทฟันและทำให้เกิดอาการปวดฟันได้
- ฟันสึก ทำให้เกิดอาการเสียวฟันเป็นครั้งคราว ถ้าสึกมากๆ ก็อาจทำให้ฟันตายได้ ถ้าฟันสึกจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันก็จะทำให้ฟันตาย มีอาการปวด และอาจต้องถอนฟันในที่สุด
- เศษอาหารติดฟัน กรณีฟันห่าง ฟันโยก ฟันผุด้านข้างเป็นรูใหญ่ หรือมีช่องว่างระหว่างฟัน เศษอาหารที่เข้าไปอัดอยู่ตรงช่องว่างเหล่านี้จะกดให้เหงือกช้ำ กลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย จึงทำให้มีอาการปวดเหงือกและฟันตามมา
- การปวดฟันอันเนื่องมาจากฟันขึ้นในวัยเด็ก ซึ่งในขณะฟันขึ้นอาจมีเหงือกอักเสบร่วมด้วย แต่อาการปวดนี้จะหายไปเองเมื่อฟันโผล่พ้นเหงือกแล้ว
- การนอนกัดฟัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีผลทำให้ฟันสึกหรือสารเคลือบฟันถูกทำลายไป
- ฟันได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก
- โรคเหงือกอักเสบและปริทันต์อักเสบ ส่งผลทำให้เหงือกในบริเวณนั้นแดงช้ำกว่าบริเวณอื่น ๆ มักมีสาเหตุมาจากคราบหินปูน ทำให้เหงือกอักเสบบวมและปวดที่ฟันได้ โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดหนึบ ๆ หรือปวดรำคาญ ร่วมกับแปรงฟันมีเลือดออก และถ้าเป็นมาก ๆ ฟันจะโยก
- การอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน ส่วนใหญ่มักเป็นผลจากฟันที่ผุลึกมากจนกระทั่งทะลุโพรงประสาทฟัน และอาจพบได้ในฟันสึก ฟันร้าว หรือแตกลึกถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดฟันขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีสิ่งใดมากระตุ้น และจะมีอาการปวดฟันมากและปวดอยู่นาน
- ปลายรากฟันอักเสบเป็นหนอง ถ้าการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันเป็นอยู่นาน โรคอาจลุกลามไปที่ปลายรากฟันจนทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นหนองบริเวณปลายรากฟัน ทำให้เกิดอาการบวมของเหงือกบริเวณฟันที่ติดเชื้อและเกิดอาการปวดฟันได้
- โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) เป็นอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีอาการเหมือนการปวดฟันได้
- อาการปวดจากโรคอื่น ๆ แล้วปวดร้าวส่งต่อมาที่ฟัน เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคทางหู และโรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการปวดฟัน
อาการปวดฟันมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทหลัก ๆ โดยประเภทแรกเป็นการปวดฟันแบบเสียวจี๊ด ๆ เวลากินของเย็น ของหวาน หรือเมื่อตอนเคี้ยวอาหาร และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อหยุดกินอาหารดังกล่าวภายในไม่กี่นาที ซึ่งลักษณะของอาการปวดเช่นนี้มักเกิดจากฟันผุหรือฟันบิ่นจนถึงเนื้อฟันชั้นใน จึงทำให้ความเย็นหรือแรงจากการเคี้ยวอาหารมีโอกาสกระตุ้นเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงประสาทใต้เนื้อฟันได้มากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดความรู้สึกเสียวฟันทุกครั้งเมื่อกินอาหาร
ส่วนอาการปวดฟันอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่า คือ การปวดเป็นจังหวะ ตุ้บ ๆ ซึ่งอาจปวดโดยอยู่เฉย ๆ ก็ปวด หรืออาจปวดมากขึ้นเวลากินของเย็นหรือของร้อน หรือเวลาเคี้ยวอาหาร และอาการปวดนี้จะไม่หายไปแม้จะเลิกกินอาหารเหล่านี้แล้วก็ตาม ซึ่งอาการปวดแบบนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารประเภทดังกล่าวพร้อมกับการรับประทานยาแก้ปวด
การวินิจฉัยอาการปวดฟัน
การวินิจฉัยหาตำแหน่งของอาการปวดฟันที่เป็นสาเหตุ ทันตแพทย์สามารถทำได้โดยการเริ่มสอบถามผู้ป่วยว่ามีอาการที่ฟันซี่ใด ปวดเวลาใด เคาะฟันเจ็บหรือไม่ อาหารชนิดใดรับประทานแล้วปวดฟัน ความไวต่ออุณหภูมิความร้อนหรือความเย็นของน้ำและอาหาร มีอาการปวดมากน้อยเพียงใด ลักษณะการปวดเป็นแบบปวดตุบ ๆ หรือปวดจี๊ด ๆ แล้วทันตแพทย์จะตรวจดูในช่องปากและฟันของผู้ป่วยเพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือไม่ ตรวจหารอยแยกของฟันและของขอบวัสดุอุดฟัน (ถ้าอุดฟันไว้) เพื่อดูว่ามีฟันร้าวหรือไม่ นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจถ่ายเอกซเรย์เพื่อช่วยหาหลักฐานของการสลายตัวของกระดูกฟัก ความผิดปกติระหว่างซี่ฟัน หรือฟันแตก
แต่บางครั้งสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดฟันอาจไม่ได้เกิดจากฟันหรือขากรรไกรก็ได้ แต่อาจเป็นความปวดที่มาจากอวัยวะอื่นที่ผู้ป่วยรับรู้ว่าปวดบริเวณฟัน ซึ่งการวินิจฉัยหาตำแหน่งของอาการปวดฟันที่เป็นสาเหตุนั้น ทันตแพทย์อาจร่วมกันกับแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยถึงโรคที่อาจเป็นสาเหตุ ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดฟันเป็นไปได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
เมื่อมีอาการปวดฟันควรทำอย่างไร
เมื่อมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น ควรรีบไปพบทันตแพทย์ อย่าเข้าใจผิด คิดว่าปวดฟันจะไม่ทำให้เสียชีวิต เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อจนเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น มีไข้ มีอาการปวดฟันรุนแรงมากขึ้น เหงือกหรือช่องปากบวม ซึ่งจะทำให้การรักษายากขึ้นหรืออาจจำเป็นต้องถอนฟัน นอกจากนี้การอักเสบติดเชื้อยังอาจส่งผลต่อการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะอื่น ๆ จากการที่เชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
อาการปวดฟันส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคฟันผุ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังปลายรากฟันเข้าไซนัสก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ และแพร่กระจายไปในกระแสเลือดทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ยากต่อการรักษา
ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น จึงควรรีบไปพบทันตแพทย์เสมอภายใน 1-2 วัน และควรระลึกไว้เสมอว่าการหาวิธีแก้ปวดต่าง ๆ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ฯลฯ จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ
ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น จึงควรรีบไปพบทันตแพทย์เสมอภายใน 1-2 วัน และควรระลึกไว้เสมอว่าการหาวิธีแก้ปวดต่าง ๆ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ฯลฯ จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ
วิธีแก้ปวดฟัน
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดฟันว่ามาจากสาเหตุใด ดังนี้
- การระงับอาการปวดฟันชั่วคราวมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น
- การทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดฟัน เป็นวิธีแรก ๆ ที่ควรทำก่อนจะใช้วิธีบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ โดยควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันทั้งสองด้านในบริเวณที่มีอาการปวดอย่างระมัดระวัง จากนั้นให้บ้วนปากและกลั้วปากด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้เศษอาหารหลุดออก เสร็จแล้วจึงบ้วนน้ำทิ้ง
- งดสิ่งกระตุ้นที่มีผลทำให้ปวดฟันหรือทำให้ประสาทฟันบาดเจ็บมากขึ้น เช่น การรับประทานของเย็นจัด (น้ำแข็ง ไอศกรีม), การรับประทานของร้อนจัด (น้ำร้อน ชาร้อน กาแฟร้อน อาหารร้อน ๆ), การรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัดหรือเปรี้ยวจัด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกบริเวณที่มีอาการปวดฟัน จนกว่าอาการปวดฟันอีกด้านจะหายไป เพราะอาการปวดฟันจะเป็นมากขึ้น ถ้าฟันซี่นั้น ๆ ถูกกระแทกบ่อย ๆ วิธีการง่าย ๆ ก็คือ การรับประทานอาหารที่ไม่ต้องใช้แรงเคี้ยว เช่น อาหารนิ่ม ๆ ไม่ควรเคี้ยวอาหารแข็ง ๆ หรือเหนียว ๆ ที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวมาก หรือให้เลี่ยงไปเคี้ยวอาหารอีกด้านหนึ่งของช่องปากแทน
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เป็นวิธีที่ช่วยกำจัดแบคทีเรียและบรรเทาอาการปวดได้ (เกลือไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษาแต่จะช่วยกำจัดแบคทีเรียและทำให้เหงือกที่บวมรอบ ๆ ฟันซี่ที่ปวดชุ่มชื้นขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้) โดยให้ผสมเกลือ 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) กับน้ำอุ่น 250 มิลลิลิตร ใช้อมกลั้วปากประมาณ 30 วินาทีแล้วบ้วนออก (สามารถทำซ้ำได้ตามความต้องการ)
- บ้วนปากด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ที่มีความเข้มข้น 3% สักพัก ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการฟันผุได้
- การรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol), แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยลดอาการปวดจนกว่าจะไปพบทันตแพทย์ได้ ซึ่งโดยปกติจะรับประทานยาแก้ปวดครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง (ควรอ่านวิธีใช้ยาจากฉลากเพื่อรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม) สำหรับยาแอสไพรินชนิดผงหรือเม็ดหรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ อย่าใส่ลงไปในรูฟันผุหรือบริเวณที่ปวดโดยตรง เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันแล้วความเป็นกรดอาจทำให้แก้มและเหงือกบริเวณใกล้เคียงเป็นแผลได้ด้วย
- ยาบรรเทาอาการปวดเฉพาะที่ ซึ่งเป็นยาทาที่ใช้เฉพาะที่บนฟันหรือเหงือกที่มีอาการปวด โดยตัวยาที่สำคัญคือ เบนโซเคน (Benzocaine) ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ ใช้ลดอาการเจ็บปวดอย่างเช่น ปวดจากแผลในปาก บรรเทาอาการปวดฟัน ปวดเหงือก แต่ยานี้ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และไม่ควรใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำบนฉลาก
- การประคบเย็น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ โดยเป็นการใช้ความเย็นเพื่อทำให้บริเวณที่ประคบเกิดอาการชา (อุณหภูมิที่ลดต่ำลงจะลดปริมาณเลือดที่ไหลออกมา เมื่อไหลน้อยลงอาการปวดบริเวณนั้นก็น้อยลงด้วยเช่นกัน) ส่วนวิธีการก็คือให้ใช้น้ำแข็งก้อนห่อด้วยผ้าบาง ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณกรามข้างที่มีอาการปวดฟันประมาณ 10-15 นาที แล้วหยุดพัก จากนั้นให้ประคบต่อตามความจำเป็น โดยให้ตรวจดูว่าบริเวณที่ปวดหายเป็นปกติหรือยังก่อนที่จะประคบอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้
- การประคบร้อน ถ้ามีฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันและเป็นหนองปลายรากฟัน และมีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด การใช้ความร้อนประคบบริเวณที่บวมจากภายนอกช่องปากนอกจากจะช่วยลดอาการปวดฟันได้ดีแล้ว ยังช่วยระบายหนองได้ดีขึ้นอีกด้วย
- การกดจุดแก้ปวดฟัน เป็นวิธีที่ช่วยระงับอาการปวดฟันได้ชั่วคราวเหมือนการรับประทานยาแก้ปวด (ดูได้ในหัวข้อด้านล่าง)
- อุดฟันชั่วคราว คุณอาจลองอุดโพรงหรือช่องในฟันที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ด้วยตัวเอง โดยการใช้หมากฝรั่งหรือขี้ผึ้งสำหรับฟันจนกว่าจะไปพบทันตแพทย์ หรือตามร้านขายยาก็มีชุดอุดฟันชั่วคราวขาย (ทำมาจากซิงค์ออกไซด์หรือส่วนประกอบที่คล้ายกัน) ซึ่งมันจะช่วยลดแรงกดที่กระทบฟันและอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์
- แอลกอฮอล์ ให้ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์แรง ๆ อย่างวอดก้า บรั่นดี วิสกี้ และเหล้ายิน ซึ่งจะมีฤทธิ์ทำให้บริเวณที่ถูกสัมผัสชาและช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว ส่วนวิธีการใช้ให้จุ่มสำลีสะอาดในเครื่องดื่มแล้วนำไปประคบกับฟันบริเวณที่ปวด หรืออาจจิบวิสกี้เพียงเล็กน้อยและอมเครื่องดื่มไว้ในข้างแก้มที่มีอาการปวด
- ใช้ถุงชาประคบบริเวณที่ปวด เช่น ชาดำที่มีสารแทนนินที่ช่วยลดอาการบวม หรือชาสมุนไพรเปปเปอร์มินต์ที่มีฤทธิ์อ่อนๆ ทำให้รู้สึกชาและบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน ส่วนวิธีการใช้ให้นำถุงชาไปอุ่นในไมโครเวฟ โดยใส่ไว้ในถ้วยที่มีน้ำประมาณ 30 วินาที เพื่ออุ่นถุงชา จากนั้นบีบน้ำที่ชุ่มออก แล้ววางถุงชาบนบริเวณที่มีอาการปวดฟันหรือเหงือกและกัดเบา ๆ จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลงไป
- ทิงเจอร์มดยอบ (Myrrh) มดยอบเป็นยางไม้ที่ออกมาจากต้นไม้มีหนามบางชนิดและใช้เป็นส่วนผสมในการทำของบางอย่าง เช่น กำยาน น้ำหอม และยา ซึ่งมีฤทธิ์ในการสมานแผล ลดอาการบวม และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงมีการใช้ทิงเจอร์มดยอบบรรเทาอาการปวดฟันมานานแล้ว โดยวิธีการใช้ให้ต้มผงมดยอบ 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) กับน้ำ 2 ถ้วย (500 มิลลิลิตร) ในหม้อใบเล็กประมาณ 30 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นให้ผสมน้ำที่ได้ 1 ช้อนชา กับน้ำครึ่งถ้วย (125 มิลลิลิตร) แล้วนำมาบ้วนปากวันละ 5-6 ครั้ง
- ยาทาหยางเหมย (Bayberry) เปลือกรากหยางเหมยเชื่อว่าเป็นยาปฏิชีวนะจากธรรมชาติ และมีสารแทนนินกับฟลาโวนอยด์ เมื่อนำหยางเหมย (บด) มาผสมกับน้ำส้มสายชูจนเป็นเนื้อครีมแล้วนำมาทาจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันและสร้างความแข็งแรงให้เหงือกได้ ส่วนวิธีการทำยานั้นให้นำเปลือกหยางเหมยมาบดให้ได้ปริมาณที่หนาจากก้นภาชนะประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปผสมกับน้ำส้มสายชู 1/4 ช้อนชา (1.25 มิลลิลิตร) เพื่อให้ได้เป็นเนื้อครีมเหนียว เสร็จแล้วจึงให้นำไปทาบริเวณที่ปวดในช่องปากโดยตรงและทิ้งไว้จนกว่าอาการปวดจะลดลง แล้วบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น
- กานพลู (Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry) เป็นสมุนไพรแก้ปวดฟันที่นิยมใช้มาตั้งแต่อดีต เพราะมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับกานพลูทั้งดอก ให้นำมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟัน หรือจะนำดอกมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อยพอแฉะ แล้วใช้สำลีชุบจิ้มหรืออุดฟันที่ปวด ส่วนน้ำมันดอกกานพลู ให้ใช้ประมาณ 4-5 หยด แล้วใช้สำลีพันไม้จุ่มน้ำมันจิ้มในรูฟันที่ปวด ซึ่งจะช่วยทำให้อาการปวดทุเลาลงได้
- ข่อย (Streblus asper Lour.) ให้ใช้กิ่งสด 5-6 นิ้วฟุต นำมาหั่นต้มใส่เกลือเคี่ยวให้งวด เหลือน้ำครึ่งเดียว ใช้อมเช้าและเย็น จะช่วยทำให้ฟันทน ไม่ปวดฟัน
- ดาวเรือง (Tagetes erecta L.) ใช้ช่อดอกแห้ง 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
- ผักชี (Coriandrum sativum L.) ให้ใช้เมล็ดนำมาต้มกับน้ำ ใช้อมบ้วนปากบ่อย ๆ เป็นยาแก้ปวดฟัน ปากเจ็บ
- ผักคราดหัวแหวน (Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen) ต้นสดใช้ตำพอกหรือเอาน้ำทาถู โดยใช้ต้นสด 1 ต้น นำมาตำให้ละเอียด เติมเกลือ 10 เม็ด คั้นเอาน้ำ ใช้สำลีพันไม้ชุบน้ำยาจิ้มลงในซอกฟัน จะช่วยทำให้หายปวดฟันได้
- หัวหอม (Allium ascalonicum L.) เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียและช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ชั่วคราว โดยให้นำหัวหอมมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วแปะไว้ที่ฟันตรงซี่ที่มีอาการปวด
- สมุนไพรแก้ปวดฟันอื่น ๆ เช่น กุยช่าย (นำเมล็ดมาคั่วให้เกรียมดำ บดให้ละเอียด ละลายน้ำมันยางแล้วชุบสำลียัดในฟันที่เป็นรูโพรงทิ้งไว้ 1 คืน), ผักบุ้งนา (ใช้รากสด 10 กรัม ตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำส้มสายชู ใช้อมประมาณ 5 นาที แล้วบ้วนออกด้วยน้ำสะอาด), มะระ (รากสดมาตำให้แหลก ใช้พอกฟันซี่ที่ปวด), ว่านหางจระเข้ (หั่นว่านเป็นชิ้น ๆ ความยาว 2-3 เซนติเมตร ใช้เหน็บไว้ที่ซอกฟัน แล้วใช้ฟันขบให้อยู่บริเวณที่มีอาการปวด), น้ำมันกระเทียม (ใช้สำลีชุบแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการปวดฟัน), ใบชา (นำใบชาแห้งไปแช่ในน้ำร้อน 20 นาที แล้วรอจนกว่าน้ำชาจะอุ่น จากนั้นให้นำมาบ้วนปากบ่อย ๆ แล้วบ้วนด้วยน้ำสะอาดตาม จะช่วยลดอาการปวดฟันได้), มะอึก, ลำโพงดอกขาว ฯลฯ
- นัดพบทันตแพทย์ วิธีบรรเทาอาการปวดฟันข้างต้นไม่ใช่การรักษาอย่างถาวร ถ้าอาการปวดฟันยังไม่หาย หลังปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวแล้ว หรือโดยเฉพาะเมื่อมีอาการบวม เป็นหนอง หรือมีไข้ร่วมด้วย ก็แสดงว่าอาจเกิดจากสาเหตุสำคัญที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจัง
- ถ้าฟันผุหรือวัสดุอุดฟันหลุด ทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยการอุดฟันให้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ฟันผุ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคฟันผุ (แมงกินฟัน) 5 วิธี !!)
- ถ้าฟันผุรุนแรงหรือเสียหายไปถึงรากฟัน ฟันเสียหายแต่ยังไม่หลุด เนื้อเยื่อฟันอักเสบ ฟันสึกจากการเสียดสี ฟันร้าว หรือฟันเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง ในบางกรณีการรักษาโดยการอุดฟันอาจไม่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีครอบฟันแทน
- การรักษาคลองรากฟัน เป็นการรักษารากฟันและเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อบริเวณปลายรากฟัน หรือเกิดจากการแตก ร้าว หรือผุ ลึกลงไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาท ซึ่งการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยยังคงสามารถเก็บฟันซี่นั้นต่อไปได้โดยไม่ต้องถูกถอนทิ้งไปเหมือนในอดีต หลังจากโพรงรากฟันได้รับการฆ่าเชื้อ ทันตแพทย์จะทำการอุดปิดโพรงรากฟันเพื่อป้องกันการกลับมาของเชื้อโรค จากนั้นทันตแพทย์อาจแนะนำการฟอกสีฟัน อุดฟัน ใส่เดือยฟัน และครอบฟันตามความเหมาะสม
- ถ้าฟันคุด ทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยการถอนฟันซี่นั้นออก เพราะการขึ้นของฟันคุดนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีในการเคี้ยวอาหารเลย แถมยังทำให้อาการปวดรุนแรงหรือติดเชื้อได้ถ้าไม่ถอนฟันคุดที่เป็นสาเหตุออก
- ถ้าฟันสึกทำให้เสียวฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนชนิดของแปรงสีฟันและยาสีฟัน หรือใช้ยาทาลดอาการเสียวฟัน หรือทำการอุดฟัน
- ถ้ามีอาการอักเสบของเหงือกและมีการสูญเสียของกระดูกที่ล้อมรอบฟัน ทันตแพทย์จะให้การรักษาโดยการขูดหินปูน การเกลารากฟัน และอาจทำศัลยกรรมร่วมด้วย
- ถ้ามีการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันหรือปลายรากฟันอักเสบเป็นหนอง ทันตแพทย์จะให้การรักษา ด้วยการรักษาคลองรากฟัน หรือถอนฟัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของเนื้อฟันที่เหลืออยู่โดยต้องให้ทันตแพทย์ประเมินการรักษาอีกครั้ง
- ถ้าอาการปวดฟันเกิดจากเหงือกร่น แพทย์จะแนะนำการดูแลรักษาเหงือกให้อย่างถูกวิธี เพราะบางครั้งการที่เหงือกร่นอาจเกิดจากการดูแลฟันที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือดูแลไม่เพียงพอ ซึ่งทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ไหมขัดฟัน ใช้แปรงสีฟันขนแปรงนุ่ม หรือใช้ยาสีฟันอย่างเซ็นโซดายน์เพื่อช่วยลดอาการเสียวฟัน แต่ในกรณีที่รุนแรง ทันตแพทย์อาจส่งต่อไปให้ศัลยแพทย์ช่องปากเพื่อทำการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ โดยการนำเนื้อเยื่อจากเพดานปากไปปลูกถ่ายตรงเหงือกที่เสียหาย
- ถ้าอาการเสียวฟันเกิดจากการที่เคลือบฟันหลุด อาจต้องใช้ยาระงับอาการเสียวฟันซึ่งเป็นยาเฉพาะที่ (สั่งโดยแพทย์หรือเภสัชกร) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดอาการเสียวที่เกิดจากเส้นประสาทในฟัน เมื่ออาการเสียวฟันจากเส้นประสาทลดลง อาการปวดก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
- ถ้าอาการปวดฟันมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเนื้อฟันหรือรากฟัน (มักมีสาเหตุมาจากการอักเสบเนื่องจากฟันผุหรือการบาดเจ็บ) ทำให้มีอาการเหงือกบวม หรือเป็นหนองร่วมด้วย จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันทีด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะก่อนที่การติดเชื้อจะทำให้ฟันเสียหรือลุกลามไปจุดอื่น โดยยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้ ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) ซึ่งการใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ
- การปวดฟันอันเนื่องมาจากฟันขึ้นในเด็ก โดยทั่วไปอาการปวดจะหายไปเองเมื่อฟันโผล่พ้นเหงือกแล้ว แต่ถ้าเจ็บมากก็ให้บ้วนน้ำเกลือบ่อย ๆ และรับประทานยาแก้ปวดสำหรับเด็ก ซึ่งอาการเจ็บปวดมักจะทุเลาและหายไปเองภายใน 2-3 วัน
- ถ้าเป็นผู้ป่วยที่นอนกัดฟัน ทันตแพทย์จะมีวิธีการโดยใส่เครื่องมือเอาไว้ป้องกันการกัดฟันเวลานอน
- ถ้าอาการปวดฟันเกิดจากโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ทันตแพทย์จะให้โดยการให้ยารับประทาน (ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)) หรือส่งต่อไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญ
- สำหรับอาการปวดฟันที่มีสาเหตุมาจากอวัยวะหรือโรคอื่น ๆ ทันตแพทย์จะส่งต่อไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญสาขาอื่นเพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
- จุดเหอกู่ ให้คว่ำฝ่ามือลง นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้แนบชิดติดกัน โดยจุดเหอกู่จะอยู่ตรงจุดสูงสุดของกล้ามเนื้อที่นูนขึ้นมาระหว่างนิ้วทั้งสอง (การหาจุดกดอีกวิธีคือให้กางหัวแม่มือและนิ้วชี้ออก แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มืออีกข้าง (ตรงรอยแบ่งข้อหัวแม่มือข้อแรก) ทาบลงบนกลางง่ามมือ) แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งกดอีกข้างหนึ่ง (ในกรณีที่กดตัวเอง) หรือให้คนอื่นกดให้ โดยใช้หัวแม่มือกดจุดทั้งสองพร้อม ๆ กัน (ใช้ในกรณีปวดฟันบน ถ้าปวดด้านซ้ายให้กดจุดเหอกู่ที่มือขวา ถ้าปวดด้านขวาให้กดจุดเหอกู่ที่มือด้านซ้าย)
- จุดเจี๋ยเชอ ให้กัดฟันทั้งสองข้าง โดยจุดเจี๋ยเชอจะอยู่ตรงรอยนูนขึ้นของกล้ามเนื้อตรงแก้มทั้งสองข้าง แล้วให้ใช้หัวแม่มือกดและคลึงเบา ๆ บนจุดเจี๋ยเชอ (การกดจุดในตำแหน่งนี้ใช้ในกรณีที่ปวดฟันล่าง ถ้าปวดด้านใดก็ให้กดด้านนั้น)
- จุดหยาท้ง จะอยู่ในตำแหน่งระหว่างนิ้วที่ 3 และ 4 บนฝ่ามือ ใต้ง่ามนิ้วประมาณ 1 นิ้ว แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกดและคลึงเบา ๆ บนจุดหยาท้ง (การกดจุดในตำแหน่งนี้ให้ใช้กดเมื่อปวดทั้งฟันบนและฟันล่าง หรือปวดเฉพาะฟันบนหรือฟันล่าง และถ้าปวดด้านใดก็กดบนมือด้านนั้น)
การรักษาทางทันตกรรมได้ทันเวลาในขณะที่เริ่มรู้สึกปวดฟันและยังไม่มีการติดเชื้อจะได้ผลค่อนข้างดี เช่น การอุดฟัน การรักษาคลองรากฟัน หรือการรักษาเหงือก แต่ถ้ามีการติดเชื้อรุนแรงและเชื้อได้แพร่กระจายไปยังไซนัสหรือกระดูกขากรรไกร หรือเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ก็จะทำให้การรักษายากขึ้น และอาจจำเป็นต้องถอนฟันออกไป
กดจุดแก้ปวดฟัน
โปรดทราบว่าการกดจุดระงับอาการปวดฟันนี้สามารถระงับอาการปวดฟันได้ชั่วคราวเท่านั้น (เหมือนการรับประทานยาแก้ปวด) และควรได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ
วิธีป้องกันอาการปวดฟัน
การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการปวดฟัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุ (สาเหตุส่วนใหญ่ของการปวดฟัน) คือ
- การแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรับประทานอาหารและขนมขบเคี้ยว (ควรพกแปรงสีฟันติดกระเป๋าไว้เสมอ เพื่อที่จะได้แปรงฟันได้ทุกที่ แต่หากไม่สามารถแปรงฟันได้ อย่างน้อยก็ควรบ้วนปากบ้างก็ยังดี)
- ควรใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss silk) ขัดฟันวันละครั้ง เพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง และเพื่อช่วยป้องกันโรคเหงือกอักเสบ โดยการเอาเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ติดค้างอยู่ในซอกฟันออกมา
- ควรใช้ฟลูออไรด์ ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือยาเม็ดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ถ้าใช้ชนิดกินควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงขนาดและวิธีการใช้ เพราะถ้าใช้มากเกินไปอาจทำให้ฟันตกกระ หรือถ้ากินในขนาดสูงมาก ๆ อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยฟลูออไรด์นี้จะช่วยเสริมสร้างผิวเคลือบฟันให้แข็งแรง แต่จะได้ผลดีสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในวัยที่ฟันกำลังเจริญเติบโต
- รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) ให้น้อยลง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล ชาหวาน กาแฟใส่น้ำตาล อาหารขยะ ลูกกวาด ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งอย่างเช่นมันฝรั่งทอด ของขบเคี้ยว ที่ถึงแม้จะไม่มีน้ำตาล แต่ก็เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดฟันผุได้เช่นกัน เพราะถ้าเปรียบเทียบกับช็อกโกแลตแล้ว มันฝรั่งยังอาจทำให้ฟันผุได้ง่ายกว่า เพราะบางคนเคี้ยวเพลิน โดยคิดไปเองว่าเค็ม ๆ กรอบ ๆ ไม่มีน้ำตาล ไม่น่าจะทำให้ฟันผุ แต่ความจริงแล้วกลับตรงกันข้ามเลย
- พยายามรับประทานอาหารเฉพาะมื้อหลักแทนการรับประทานอาหารว่างบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งที่ฟันจะผลิตกรดที่ย่อยอาหารออกมา
- ควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยเป็นประจำทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพและทำความสะอาดฟัน
- ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เป็นครั้งแรกก่อนที่เด็กจะมีอาการปวดฟันหรือพาไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เด็กเริ่มมีฟันขึ้น และผู้ปกครองควรช่วยเด็กแปรงฟันด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดโอกาสการเกิดฟันผุและอาการปวดฟันในเด็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการดูแลฟันและควรไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
ที่มา : https://medthai.com/